May 22, 2014
เตรียมตัวไปญี่ปุ่น กับ 11 เรื่องน่ารู้ก่อนแพ็กกระเป๋าตะลุย
เตรียมตัวไปญี่ปุ่น กับ 11 เรื่องน่ารู้ก่อนแพ็กกระเป๋าตะลุย
ก่อนจะออกเดินทางไปท่องเที่ยวต่างบ้านต่างเมือง จำเป็นต้องศึกษาข้อมูลเบื้องต้นกันก่อน เพื่อสามารถเอาตัวรอดและท่องเที่ยวอย่างราบรื่นตลอดทริป และสำหรับนักเดินทางที่มีโปรแกรมไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่น ซึ่งนับว่าเป็นประเทศที่เจริญก้าวหน้ามาก ๆ อีกทั้งยังคงไว้ซึ่งวัฒนธรรม เอกลักษณ์ และมีสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามอีกหลายแห่งด้วยกัน ทำให้สามารถดึงดูดสายตานักท่องเที่ยวต่างชาติได้ดีทีเดียว
ฉะนั้นจึงนำข้อมูลเบื้องต้นที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในญี่ปุ่นจากwww.insidejapantours.com มาฝากจ้า
1. อุปกรณ์ไฟฟ้า
อุปกรณ์ไฟฟ้านับว่าสำคัญมาก ลองจินตนาการดูว่าถ้าไม่สามารถชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์หรือกล้องถ่ายรูปได้นั้น ชีวิตของนักท่องเที่ยวจะเป็นอย่างไรล่ะ ดังนั้น ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับกระแสไฟฟ้าที่ญี่ปุ่นจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ควรรู้ กระแสไฟฟ้าที่ญี่ปุ่นในเมือง Osaka จะใช้อยู่ที่ 100 โวลต์ 60 Hz ส่วนในกรุงโตเกียวและทางทิศตะวันออกจะใช้ 100 โวลต์ 50 Hz เต้ารับเป็นชนิด 2 รู สำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ผลิตจากสหรัฐอเมริกาสามารถเสียบใช้งานได้ แต่ถ้าเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้ารุ่นเก่ามากอาจจะไม่สามารถใช้งานด้วยกันได้ จึงต้องเตรียม Adaptor มาด้วย.
2. ภาษาราชการคือภาษาญี่ปุ่น
คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ จะมีแต่ในเมืองใหญ่ ๆ เท่านั้นที่พอมีคนสื่อสารภาษาอังกฤษได้ ดังนั้น ก่อนเดินทางควรศึกษาภาษาญี่ปุ่นก่อนนิดหน่อย เช่น ประโยคที่จำเป็นต้องพูดเพื่อขอความช่วยเหลือ การสั่งซื้ออาหาร รวมถึงการกล่าวทักทาย คำขอบคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อคุณเอง ขนาดป้ายบอกทาง หรือข้อมูลต่าง ๆ ก็มีแต่ตัวคันจิเต็มไปหมด ทั้งนี้ การถามหาข้อมูลจากคนญี่ปุ่นจึงเป็นทางออกเดียวที่พอจะทราบข้อมูลบ้าง.
3. สภาพภูมิอากาศ
Photo via: Pinterest
สภาพภูมิอากาศที่ประเทศญี่ปุ่นค่อนข้างหลากหลาย เช่น เกาะฮอกไกโด ในช่วงฤดูหนาวนั้นอากาศหนาวมาก แต่เมื่อฤดูร้อนมาเยือนอากาศก็ร้อนอบอ้าว และมีคลื่นความร้อนสูงถึง 30 องศาเซลเซียส ขณะที่แผ่นดินใหญ่ในช่วงฤดูร้อน อุณหภูมิสูงประมาณ 20-30 องศาเซลเซียส แต่ในช่วงต้นของฤดูร้อนกลับมีฝนตกลงมาก่อน มีลมพัดแรง ฝนตกหนักมากถึงระดับไต้ฝุ่นเลย ทั้ง ๆ ที่เป็นช่วงฤดูร้อน ดังนั้น ก่อนเดินทางไปญี่ปุ่นต้องตรวจสอบสภาพอากาศได้ดี ๆ ก่อน จะได้เตรียมเสื้อผ้าไปให้เหมาะสม.
4. การติดต่อสื่อสารในประเทศญี่ปุ่น
Photo via: tabippo.net
เรื่องของการติดต่อสื่อสารนับว่าจำเป็นมากไม่แพ้สิ่งอื่น เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด จะได้รู้ช่องทางในการติดต่อมาหาญาติในประเทศไทยได้ หรือแม้แต่การรับข่าวสารภายในประเทศญี่ปุ่นก็สำคัญเช่นกัน หากเกิดเหตุร้ายแรงจะได้รีบกลับประเทศไทย รายละเอียดสำหรับช่องทางการติดต่อสื่อสารหรือสื่อต่าง ๆ มีดังนี้
โทรศัพท์/แฟกซ์ : รหัสประเทศคือ 81 สามารถโทรข้ามประเทศได้
ไปรษณีย์ : Tokyo Central Post Office ตั้งอยู่ในเมืองโตเกียว เปิดให้บริการ วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 09.00-19.00 น. และวันเสาร์ 09.00-17.00 น. นอกจากนี้ยังมีที่ทำการไปรษณีย์ใหญ่ ๆ อีกที่ Osaka และใกล้ ๆ กับสถานีรถไฟเกียวโต ด้วย เวลาทำการ คือ วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 09.00-17.00 น. และวันเสาร์ 09.00-12.00 น.
สื่อต่าง ๆ : มีหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษเช่น The Daily Yomiuri, The Asahi Evening News, The Japan Times และ The Mainichi Daily News ให้บริการในหลายเมือง
โทรศัพท์มือถือ : ค่าบริการยืมโทรศัพท์มือถือและค่าโทรที่ญี่ปุ่นค่อนข้างสูง ดังนั้น ควรปิดการรับสัญญาณ 3G, E, wifi-internet ฯลฯ เพราะว่ามันจะชาร์จเงินค่าบริการโดยที่คุณไม่รู้ตัวเลยทีเดียว เครือข่ายโทรศัพท์ที่ญี่ปุ่นเป็นระบบที่รองรับเฉพาะเครื่องที่มี 3G เท่านั้น หรือถ้าจะใช้โทรศัพท์ของคุณเองก็ต้องขอให้สัญญาณข้ามเครือข่าย (Roaming) นอกจากนี้ยังสามารถเช่า SIM Card อีกด้วย บริษัทที่ให้บริการ คือ Softbank และ Mobal Narita เปิดให้บริการอยู่ตามสนามบิน.
5. พาสปอร์ต
ก่อนออกเดินทางต้องตรวจดูความเรียบร้อยให้ดีก่อน ในเรื่องของระยะเวลาที่อยู่ในญี่ปุ่นได้ และควรถ่ายเอกสารหน้า พาสปอร์ตเอาไว้ด้วย เพื่อมันหายจะมีข้อมูลสำคัญอยู่.
6. สุขภาพและความปลอดภัย
แม้ว่าญี่ปุ่นจะเป็นเมืองที่สะอาดและมีระบบการรักษาความปลอดภัยสูง แต่ก็ควรทำประกันภัยเดินทางด้วย นอกจากนี้ ในฤดูร้อนและใบไม้ผลิจะเป็นช่วงที่ยุงชุมมาก อาจจะป่วยเป็นโรคมาลาเรียได้ ดังนั้น ควรเตรียมสเปรย์/ครีมกันยุงมาด้วย เพราะในญี่ปุ่นยังไม่มียาสำหรับกินเพื่อบรรเทาอาการได้ จึงควรป้องกันไม่ให้เป็นตั้งแต่แรกจะดีที่สุด ส่วนในเรื่องของอาหารและเครื่องดื่มต้องระวัดระวังเรื่องความสะอาดด้วย หรือแม้แต่การทานอาหารดิบ มันจะส่งผลให้ท้องเสียได้.
7. สกุลเงินที่ใช้กันในญี่ปุ่น
สกุลเงินที่ญี่ปุ่นใช้คือ เยน เหรียญที่ใช้กันมี 6 แบบ คือ 500, 100, 50, 10, 5 และ 1 เยน ธนบัตรมี 4 แบบ คือ 10,000, 5,000, 2,000 และ 1,000 เยน แต่ธนบัตรมูลค่า 2,000 เยน จะไม่ค่อยเห็นเท่าไหร่นัก เพราะว่าเป็นธนบัตรรุ่นที่ทำออกมาเมื่อปี 2000 เป็นการฉลองเข้าสู่ทศวรรษใหม่ อย่างไรก็ตาม แบงก์ชนิดนี้ถูกจำหน่ายโดยธนาคารต่างประเทศ จึงมีแต่นักท่องเที่ยวเท่านั้นที่นำมาใช้ ถ้าหากนำไปใช้ซื้อของหรือจ่ายค่ารถแล้วเขาไม่รับ ก็ไม่ต้องแปลกใจไป แต่ตามสถานที่ใหญ่ ๆ หรือสถานที่ราชการเขารับแบงก์ชนิดนี้อยู่ แต่ทางที่ดีอย่าแลกเป็นแบงก์ 2,000 มาแต่แรกดีกว่า สำหรับเหรียญที่ใช้กันจะมี 3 เหรียญเงินประกอบไปด้วย เหรียญมูลค่า 500, 100 และ 50 ส่วนเหรียญทองแดง มูลค่า 10 และ 5 เยน เหรียญ.
8. อัตราการแลกเปลี่ยนเงินตรา
เงินสกุลเยนเป็นหน่วยที่แลกเปลี่ยนได้ง่าย แต่เมื่อ 6-7 ปีที่ผ่านมาได้เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ ทำให้ค่าเงินเยนอ่อนตัวลง และถึงแม้ว่าจะเป็นช่วงวิกฤตแต่เงินสกุลเยนก็ยังมีความปลอดภัยอยู่ เห็นได้จากมีการไหลเวียนเงินเยนจำนวนมหาศาลอยู่ อย่างไรก็ตาม อัตราการเปลี่ยนแปลงสามารถเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ดังนั้น ต้องตรวจสอบให้ดีก่อนออกเดินทาง สามารถตรวจสอบได้จากเว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย www.bot.or.th
โดยคุณสามารถแลกเงินได้ที่ Exchange booth ของธนาคารต่าง ๆ ที่สนามบินและที่ทำการไปรษณีย์ และต้องพกพาสปอร์ตไปด้วยทุกครั้งที่ต้องการแลกเงิน ถ้าคุณถือบัตร Visa จะสะดวกมากขึ้นเมื่อมาที่ธนาคาร Sumitomo แต่เป็นธนาคารที่ตั้งอยู่เฉพาะเมืองใหญ่ ๆ เท่านั้น เขตนอกเมืองไม่มีให้บริการ คุณสามารถใช้บัตร Visa และ MasterCard เพื่อถอนเงินที่ไปรษณีย์และตู้ ATM หน้า 7-11.
9. บัตรเครดิต เดบิต และบัตร ATM
Photo via: JNTO
ผู้ให้บริการบัตรเครดิตและเดบิตรายใหญ่อย่าง Visa, MasterCard, Amex, JBC, Diners มีสถานที่ให้บริการเพิ่มมากขึ้นในเมืองใหญ่ ๆ แต่ตามตลาดนัดเจ้าของร้านจะรับแต่เงินสด เพราะไม่มีเครื่องรูดการ์ดได้ สำหรับตู้กดเงินตามธนาคารทั่วไปไม่รับการ์ดต่างประเทศ ต้องใช้ Post Office cash machines หรือ ตู้ ATM หน้า 7-11 เท่านั้น ถ้าหากมีข้อสงสัยต้องการสอบถามเกี่ยวกับการให้บริการบัตรเครดิตสามารถโทรสอบถามได้ที่
American Express : 0120 020 120
MasterCard : 03 3256 6271
Visa : 0120 133 1363
สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ ไม่สามารถใช้เช็คส่วนตัว (Personal cheques) ที่ญี่ปุ่นได้ นอกจากนี้ ญี่ปุ่นจะเก็บภาษีเพิ่มสำหรับนักท่องเที่ยวอีก 5% ในการซื้ออาหาร ค่าที่พัก สิ่งของทุกอย่าง และรัฐบาลจะเพิ่มภาษีขึ้นอีกในวันที่ 1 สิงหาคม 2014 เป็น 8%.
10. โอกาสเหมาะ ๆ ที่สามารถให้ทิปได้
โดยปกติแล้วคนญี่ปุ่นเขาไม่รับทิปกัน แต่ก็มีเพียง 2 แห่งที่รับทิป นั่นก็คือ ที่พักสไตล์ญี่ปุ่น และทิปสำหรับคนขับรถ ที่แรกคือที่พักสไตล์ญี่ปุ่น หรือที่เรียกว่าเรียวกัง (ryokan) สามารถให้ได้เวลามีพนักงานมาเสิร์ฟอาหารในห้อง โดยวางไว้บนที่นอนทันทีที่เขาเอาอาหารมาเสิร์ฟ ค่าทิปที่เหมาะสมที่สุด คือ 1,000 เยนต่อหนึ่งคืน จะไม่มีการส่งให้กับมือเพราะถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม การทิปจะต้องให้อย่างมิดชิด อาจจะใส่ซองให้ สามารถหาซื้อซองได้ตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป บอกคนขายว่าซื้อซองใส่ทิป เขาจะหยิบให้ เพราะว่ามันมีซองหลายประเภท และแห่งที่ 2 ที่สามารถให้ทิปได้ คือ ให้กับคนขับรถที่ขับพาเที่ยวทั้งวัน และแน่นอนทิปจะต้องถูกให้ตอนเริ่มต้นของการใช้บริการ ค่าทิปเขาให้กันปกติที่ 1,000 เยน สำหรับครึ่งวัน และ 2,000 เยนสำหรับเต็มวัน อ๊ะ ๆ อย่าลืมใส่ซองให้เขาด้วย เวลาส่งทิปให้ก็ต้องกล่าวคำว่า “yo-ro-shi-ku one-gai-shi-masu” ซึ่งแปลว่า “โปรดใจดีกับฉันด้วย”.
11. เบอร์โทรศัพท์ติดต่อกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน
Photo via: The Expat’s Guide to Japan
เบอร์ตำรวจ : 110
รถดับเพลิง : 119
Japan Helpline : 0120 461 997 (สื่อสารเป็นภาษาอังกฤษ และให้บริการ 24 ชั่วโมง)
ทั้ง 11 ข้อคือสิ่งที่ต้องศึกษาก่อนออกเดินทางไปท่องเที่ยวที่ญี่ปุ่น ควรใช้เวลาในการตระเตรียมข้อมูลและสัมภาระที่จำเป็นให้พร้อมก่อนออกเดินทางสักประมาณสาม-สี่เดือน เพื่อความรอบคอบและไม่ประมาท จะได้เที่ยวกันอย่างสบายใจไร้ปัญหา.